วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พบปะพี่น้องชมรมรามคำแหงพิษณุโลก สาขาบางกระทุ่ม

ชมรมรามคำแหงพิษณุโลก นำโดย นายสุนทร วชิราศีรศิริกุล ที่ปรึกษาชมรมฯ นายนภดล วชิรปรัชญากุล เลขานุการชมรมรามคำแหงพิษณุโลก สาขาบางกระทุ่ม ฝ่ายประสานงาน หลังจากมอบทุนการศึกษาแด่น้องๆที่โรงเรียนบางกระทุ่มพิทยาคมแล้วได้พบปะสังสรรค์พี่น้องชมรมรามคำแหงที่ร้านอาหาร อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

ชมรมรามคำแหงพิษณุโลกมอบทุนการศึกษาให้น้องที่เรียนดีแต่ยากจน




เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 ชมรมรามคำแหงพิษณุโลก นำโดยนายสุนทร วิชิศรีศิริกุล ที่ปรึกษาชมรมฯ นายวิษณุ นึกอนันต์ ผู้ช่วยเลขาฯ นายนภดล วชิรปรัชญากุล เลขานุการฝ่ายประสานงานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก สาขาบางกระทุ่ม นำทุนการศึกษามอบแด่น้องๆ โรงเรียนบางกระทุ่มพิทยาคม จำนวน 5 ทุน เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท โดย นายเดชา สมบูรณ์พงษ์กิจ ผู้อำนยการโรงเรียนบางกระทุ่มพิทยาคม รับมอบ โดยมีน้องๆ ที่เรียนดีแต่ยากจนจำนวน 5 คน มีรายชื่อดังต่อไปนี้
  1. นายชาตรี เจริญธัญกร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
  2. นางสาวอลิษา เกิดคง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
  3. เด็กหญิงชุติมา แตงอ่อน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
  4. เด็กชายรุ่งโรจน์ อ่อนเกตุ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
  5. เด็กชายสิทธิพร ทองชาวนา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ร่วมประชุมสามัญประจำปี 2551


พันตำรวจเอก ประเสริฐ กาฬรัตน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก/ประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก ร่วมประชุมสามัญประจำปี 2551 ในวันพุธที่ 27 สิงหาคม 2551 เวลา 18.30 น. ณ ภัตตราคาร ส.เลิศรส อ.เมือง จ.พิษณุโลก

ชมรมรามคำแหงพิษณุโลกร่วมกับโรงทานเจ๊ดา นำสิ่งขอเสื้อผ้า อาหารแห้ง ร่วมบริจาคทานช่วยเหลือคนยากจน

กรรมการบริหารชมรมรามคำแหงพิษณุโลก ถ่ายรูปรวมกันที่โรงทานเจ๊ดา
ชมรมรามคำแหงพิษณุโลกร่วมกับโรงทานเจ๊ดา คุณกิ่งกนก แสงสว่าง นำสิ่งขอเสื้อผ้า อาหารแห้ง ร่วมบริจาคทานช่วยเหลือคนยากจน ในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2551 โดยมีผู้มารับบริจาคทั้งสิ้นกว่า 250 คน เจ๊ดา คุณกิ่งกนก แสงสว่าง เจ้าของโรงทานเจ๊ดา ด้วยสัตย์ปฏิญาณที่ว่า"ขอทำความดีเพื่อพ่อให้เป็นแบบอย่างให้ประชาชนให้ทุกคนทำความดี เพื่อเป็นการสร้างบารมีให้แก่ตัวท่านเองเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน" ข้าพเจ้าทำบุญไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ข้าพเจ้ามีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำข้าพเจ้าปรารถนา ใน 3 สิ่ง ดังนี้ 1.วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ทุกปี เลี้ยงอาหาร แจกข้าวสารอาหารแห้งและเสื้อผ้า 2.เลี้ยงอาหารเจในเทศกาลกินเจ 9 วัน ทุกปี 3.วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ทุกปี เลี้ยงอาหาร แจกข้าวสารอาหารแห้งและเสื้อผ้า

มอบอุกรณ์การเรียนให้น้องโรงเรียนเทศบาล 2 วัดคูหาสวรรค์


เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2551 ชมรมรามคำแหงพิษณุโลก โดย พันตำรวจเอก ประเสริฐ กาฬรัตน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก /ประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก พร้อมด้วยกรรมการบริหารชมรมฯ ได้นำสิ่งของ อุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า มอบให้นักเรียน ณ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายสมเกียรติ แสงสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก / ประธานกรรมการสถานศึกษา พร้อมด้วย นางเนื้อทิพย์ กาญจนากาศ ผู้อำนวยการสถานศึกษา รับมอบสิ่งของช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งมีนักเรียนที่มีปัญหาด้านครอบครัว เนื่องจากความฝืดเคืองในความเป็นอยู่และยากจน โรงเรียนเทศบาล 2 วัดคูหาสวรรค์ มีนักเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนทั้งสิ้น 744 คน เป็นนักเรียนชาย 342 และหญิง 402 คน ซึ่งชมรมรามคำแหงพิษณุโลกจะกิจกรรมอย่างนี้เพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่องต่อไป

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ร่วมมอบสารานุกรม ในโครงการร่วมทำความดีให้ความรู้ กับดีแทค

เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2552 ชมรมรามคำแหงพิษณุโลก นำโดยนายญาติพิชัย กลิ่นเจริญ นายทะเบียนชมฯ และนายวิษณุ นึกอนันต์ ผู้ช่วยเลขานุการฯ นำหนังสือสารานุกรมซึ่งชมรมฯได้สนับสนุนเงินจัดซื้อสารานุกรมในโครงการทำความดีให้ความรู้ ร่วมกับดีแทค มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด รายการร่วมด้วยช่วยกัน โดยมี นางสาวภาระกิต เจริญกองชู ผู้จัดการรายการร่วมด้วยช่วยกัน จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกันนำหนังสือสารานุกรมไปมอบแก่นักเรียนโรงเรียนรักไทยร่มเกล้าอุปถัมภ์ หมู่ที่ 7 ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้ นายญาติพิชัย กลิ่นเจริญ ยังได้นำคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์พิษณุโลก คณะนิติศาสตร์ ร่วมเผยแพร่ความรู้ทางการแก่ประชาชนและผู้สนใจในงานนี้อีกด้วย

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชมรมรามร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพคุณพ่ออนุสิทธิ์ จันทรศิริ

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ชมรมรามคำแหงพิษณุโลก นำโดยคุณเกษมสรวง แก้วสะแสน เลขานุการชมรมรามคำแหงพิษณุโลก พร้อมด้วยคุณญาติพิชัย กลิ่นเจริญ นายทะเบียนฯ คุณวิษณุ นึกอนันต์ ผู้ช่วยเลขานุการชมรมฯ มอบเงินช่วยเหลือแก่ นายสาโรจน์ จันทรศิริ กรรมการชมรมรามคำแหงพิษณุโลก ซึ่งคุณพ่ออนุสิทธิ์ จันทรศิริ ได้เสียชีวิตด้วยโรคชรา วัย 86 ปี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่สมาชิกชมรมรามคำแหงพิษณุโลก จำนวนเงิน 1,500 บาท ณ วัดสุนทรประดิษฐ์ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชมรมรามรับโล่ห์ โครการทำดีทุกวัน ร่วมด้วยช่วยกัน

ครบรอบ 5 ปี จัดโครงการ ทำดีทุกวัน ร่วมด้วยช่วยกันสัมพันธ์ชุมชน ฉลองปีที่ 6
วันที่ 12 พฤษภาคม 2552 บริษัท สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.จำกัด มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด โครงการ ทำดีทุกวันจากดีแทค จัดโครงการ ทำดีทุกวัน ร่วมด้วยช่วยกันสัมพันธ์ชุมชน ในโอกาสครบรอบ 5 ปี เข้าสู่ปีที่ 6 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ สำนักงานร่วมด้วยช่วยกันจังหวัดพิษณุโลก โดยมี ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายอภิวัฒน์ รัตนนาคินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.จำกัด นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด จากดีแทค หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้มีเกียรติร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การจัดงานทำบุญครบรอบ ๕ ปี เข้าสู่ปีที่ ๖ ของสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันจังหวัดพิษณุโลก FM ๙๒.๕๐ MHz. ในวันนี้ถือว่าเป็นการกระทำในสิ่งที่เป็นมงคล ฟ้าดินเห็น ท้องฟ้าเป็นใจทำให้อากาศในวันนี้ไม่ร้อน การนิมนต์พระมาทำบุญจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขและมีความสบายใจ ยินดีที่ทาง มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. โครงการ ทำดีทุกวัน จากดีแทค มีการเชื่อมโยงการบริการข้อมูลเกษตรทาง ไอที ซึ่งทางจังหวัดยินดีที่จะช่วยในส่วนที่ดีต่อสังคม รายการร่วมด้วยช่วยกันรู้จักมานานมากแล้วเป็นรายการที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดียิ่ง และมีบทบาทในการ เป็นสื่อกลางให้เกิดการเกื้อกูล สนับสนุนและช่วยเหลือสังคม รวมทั้งการยกย่อง เชิดชูคนดี ซึ่งเป็นรากฐานอันมั่นคงในการพัฒนาสังคมของเราให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ ตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สังคมไทยดั้งเดิมเป็นสังคมคุณธรรม เป็นสังคมที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันฉันเครือญาติ จากการขยายตัวทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นสังคมบริโภคที่ต่างคนต่างอยู่ มีการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้ความมีน้ำใจลดลงเห็นแก่ตัวมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ซึ่งในวันนี้ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่บริษัท สำนักข่าว ไอ เอ็น เอ็น จำกัด มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด โครงการทำดีทุกวันจากดีแทค จัดโครงการ ทำดีทุกวัน ร่วมด้วยช่วยกันสัมพันธ์ชุมชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรและสื่อมวลชน ในการช่วยกันส่งเสริมภาคการเกษตรซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป นายอภิวัฒน์ รัตนนาคินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. จำกัด สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ออกอากาศครั้งแรก เมื่อ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ทางคลื่น FM ๙๗.๕๖MHz. และคลื่นวิทยุของ กรุงเทพมหานคร AM ๘๗๓ MHz. นับแต่วินาทีแรกที่รายการออกอากาศ ก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดียิ่งและเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้มีการขยายเครือข่ายสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันภูมิภาคครั้งแรก ที่จังหวัดเชียงราย และในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ รายการร่วมด้วยช่วยกันได้ขยายเครือข่ายที่จังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก ได้ดำเนินการออกอากาศในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพภาคที่ ๓ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้ดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันจังหวัดพิษณุโลก FM ๙๒.๕๐ MHz ใช้ชื่อสถานีว่า สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันจังหวัดพิษณุโลก ยังคงดำเนินงานให้เกิดการร่วมด้วยช่วยกัน และมุ่งส่งเสริมภาคการเกษตรซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดระยะสิบปีที่ผ่านมาแห่งการร่วมด้วยช่วยกัน ภายใต้จุดยืนและอุดมการณ์ที่ต้องการสร้างสรรค์สังคมดี คนดี มีน้ำใจต่อกัน หลากหลายเรื่องราว แห่งการร่วมด้วยช่วยกันของคนในสังคม ที่ประสานผ่านมายังสถานีวิทยุแห่งนี้ เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นถึงการยอมรับของประชาชนและความนิยมในตัวรายการ "ร่วมด้วยช่วยกัน" เป็นอย่างมากปัจจุบันรายการร่วมด้วยช่วยกันสานต่อเจตนารมณ์แห่งการร่วมด้วยช่วยกันและลงพื้นที่การเกษตร พบเกษตรกร เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไข พร้อมกับเพิ่มพูนความรู้แก่เกษตรไทย ผ่านวิทยุกระจายเสียง อินเตอร์เน็ต และบริการ *1677 ทางด่วนข้อมูลการเกษตร เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดความร่วมมือ ส่งเสริมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปัจจุบันได้มีเกษตรกรและผู้ฟังรายการตอบรับในการขอรับบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กร และสื่อมวลชน ด้วยดีเสมอมา บริษัท สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.จำกัด มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด โครงการ ทำดีทุกวันจากดีแทค จึงได้จัดงานทำบุญสถานีภายใต้โครงการ ทำดีทุกวัน ร่วมด้วยช่วยกันสัมพันธ์ชุมชน ขึ้นในวันนี้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวิทยุร่วมด้วยช่วยกันกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชน และเพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน ตลอดปี ๒๕๕๒

นายอภิวัฒน์ รัตนนาคินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. มอบใบประกาศเกีรติคุณ ในโครงการทำดีทุกวันจาก ดีแทค ร่วมด้วยช่วยกัน และมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด ให้แก่ชมรมรามคำแหงพิษณุโลก โดยคุณเกษมสรวง แก้วสะแสน เลขานุการชมรมและคณะกรรมการบริหารรามคำแหง รับมอบในงานนี้

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประชุมประจำเดือนพฤษภาคม 2552

ชมรมรามคำแหงพิษณุโลก นำโดย พ.ต.อ.ประเสริฐ กาฬรัตน์ ประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก/รองผบก.ภ.จว.พิษณุโลก พร้อมกรรมการบริหารชมรมฯ จัดประชุมประจำเดือนพฤษภาคม 2552 เพื่อหารือและจัดเตรียมทำกิจกรรมสาธารณะกุศลในรูปแบบต่างๆ โดยมีโครงการช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นักเรียนยากจน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ในท้องถิ่นต่างๆ ทั้ง 9 อำเภอ ในจังหวัดพิษณุโลก ทุนละ 3,000 บาทพร้อมเร่งให้การช่วยเหลือและทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

โดยที่ประชุมมีมติร่วมสนับสนุนโครงการสาธารณะกุศลต่างๆ ดังนี้
1.จัดซื้อหนังสือสารานุกรมเพื่อเด็กและเยาวชนร่วมกับสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน HappY staion FM 92.50 MHz. และมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด อนุมัติเงินสำหรับจัดซื้อสารานุกรมจำนวน 2,000 บาท
2.ร่วมสนับสนุนกิจกรรมชมรมปักษ์ใต้ 4,000 บาท
3.ร่วมส่งสนับสนุนกิจกรรมชมรมส่งเสริมกีฬามวลชนผู้สูงอายุจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1,200 บาท
4.เตรียมการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ยากไร้ ศูนย์โรคเรื้อนบ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก (ระหว่างประสานข้อมูลเพิ่มเติม)

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

ขอเชิญประชุมประจำเดือน

ชมรมรามคำแหงพิษณุโลก
ขอเชิญสมาชิกทุกท่านร่วมประชุมประจำเดือน
เพื่อสรุปงาน "ราตรีราม 51"
ในวันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2552
ณ ภัตตาคาร ส.เลิศรส
อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
คุณเกษมสรวง แก้วสะแสน
โทร.081-5340140

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง : 2514 ถึงปัจจุบัน

1. มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมาตั้งแต่พ.ศ.2514 ณ บริเวณที่ดินทั้งหมดประมาณ 300 ไร่เศษ ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2514 กำหนดให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา กล่าวคือ ให้เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักศึกษา โดยไม่จำกัดจำนวน และไม่มีการสอบคัดเลือก นับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี 2514 จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้เปิดทำการเรียนการสอนมาเป็นเวลา 31 ปีแล้ว
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีกระบวนวิชาที่เปิดสอน ในระดับปริญญาตรีประมาณ 1,900 กระบวนวิชา ระดับปริญญาโท 130 กระบวนวิชา จัดการสอนในหลักสูตรระดับอนุปริญญา 23 สาขาวิชา ระดับปริญญาตรี 60 สาขาวิชา ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต 1 สาขาวิชาระดับปริญญาโท 30 สาขาวิชา โดยมีคณะวิชาที่รับผิดชอบ 8 คณะ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะรับผิดชอบ การเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาอีก 1 หน่วยงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรปริญญาเอก และหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ
กล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา 31 ปี มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้พัฒนามาโดยตลอด ทั้งในด้านพัฒนาการวิชาการ พัฒนาสังคม โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในขณะเดียวกันก็พัฒนาไปตามกระแสโลกกภิวัตน์ทางด้านเทคโนโลยี จนปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย อันได้แก่ การสอนทางไกล การเรียนการสอนแบบ e-learning การใช้คอมพิวเตอร์ในทุกระดับ งานด้านบริการและการสอน จนมหาวิทยาลัยได้ก้าวสู่การเป็น e-University ในระดับมาตรฐานสากล
2. เหตุผลที่ตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีสาเหตุมาจากปัญหาการขาดแคลนที่เรียนในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย เพราะมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสถานที่เรียนจำกัด ไม่สามารถรับผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ทั้งหมด จึงมีผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแล้วไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อ ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นต้องจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่ประสงค์จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้เข้ารับการศึกษาอย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มพูนวิทยฐานะแก่ผู้ประกอบอาชีพและขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชาชนทั่วไป
3. คณะ/สำนัก/สถาบันมหาวิทยาลัยรามคำแหงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีหน่วยงานในระดับคณะสำนักและสถาบันซึ่งมี หน้าที่ดำเนินการจัดการศึกษาและให้บริการด้านบริหารและวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีดังนี้คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน และบัณฑิตวิทยาลัยสำนักและสถาบันต่างๆ ที่บริการด้านบริหารและวิชาการมีดังต่อไปนี้สำนักงานอธิการบดี สำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล สำนักหอสมุดกลาง สำนักเทคโนโลยีการศึกษา สำนักพิมพ์ สำนักกีฬา สถาบันคอมพิวเตอร์ สถาบันวิจัยและพัฒนา สถาบันวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหงเฉลิมพระเกียรติ สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันภาษา ศูนย์สื่อการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันฝึกอบรม* และกำลังอยู่ในระยะดำเนินการเตรียมการจัดตั้งศูนย์สารนิเทศมหาวิทยาลัยรามคำแหง
4. รามคำแหง 2 เนื่องจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีนักศึกษาเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาด้านสถานที่เรียนไม่เพียงพอ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงได้เสนอแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสถานที่เรียนต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งวิทยาเขตขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2522 ณ บริเวณที่ดินซึ่งมีผู้บริจาคจำนวน 150 ไร่ โดยตั้งอยู่ที่แขวงดอกไม้ เขตพระโขนง กรุงเทพฯ บนถนนสายบางนา ตราด และมหาวิทยาลัยเปิดใช้วิทยาเขตนี้ เมื่อภาค 1 ปีการศึกษา 2527 เป็นต้นมาสำหรับนักศึกษาที่ไม่มีโอกาสฟังคำบรรยายที่มหาวิทยาลัย ซึ่งมีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศนั้น มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการบรรยายสรุป ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ
5. สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ในปีการศึกษา 2538 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในภูมิภาคและท้องถิ่นต่างๆ มีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดำรงชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต... โดยมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเปิดสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และต่อมา ก็ได้เปิดสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติฯ เพิ่มขึ้นอีกในจังหวัดแพร่ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดนครพนม จังหวัดสุโขทัย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดตรัง จังหวัดลพบุรี จังหวัดหนองบัวลำภู ตามลำดับ ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นกระจายการให้บริการการเรียนการสอน และการสอบไปสู่ภูมิภาค ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้จัดดำเนินการสอบไล่ให้แก่นักศึกษาในส่วนภูมิภาค รวม 29 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์สอบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี นครพนม อำนาจเจริญ อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ราชบุรี ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา ชุมพร สุโขทัย ศรีสะเกษ ลพบุรี และจังหวัดหนองบัวลำภู
6. การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมของมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2538 โดยได้มีการสอนโดยตรงจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ ไปสู่มหาวิทยาลัยรามคำแหงสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ส่วนภูมิภาค 3 จังหวัด คือ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มแรกได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี โดยใช้ Video Conferencing System ผ่านดาวเทียมไทยคมในย่านความถี่ C-Band โดยกระจายสัญญาณทิศทางเดียวไปยังสาขาวิทยบริการในส่วนภูมิภาค นักศึกษาที่เรียนอยู่ในห้องเรียนสามารถสอบถามและขอคำอธิบายเกี่ยวกับการเรียนการสอนผ่านระบบโทรศัพท์ และโทรสารมายังอาจารย์ผู้สอนได้ในปีการศึกษา 2538
ในปีการศึกษา 2539 มหาวิทยาลัยได้ขยายสาขาวิทยบริการฯ เพิ่มขึ้นอีก 3 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดนครพนม มหาวิทยาลัยได้พัฒนาเทคโนโลยีการเรียนการสอนทางไกล โดยใช้เทคโนโลยีการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์โดยตรงสู่ห้องเรียนต่างๆ ในระบบ (Direct To Home Broad Casting) ผ่านดาวเทียมไทยคมย่านความถี่ Ku-Band ซึ่งปัจจุบันออกอากาศผ่านทางไทยสกายเคเบิ้ลทีวี ช่อง 10 นอกจากการใช้เทคโนโลยีสื่อสารแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้จัดให้อาจารย์ไปบรรยายสรุป ณ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดต่างๆ เป็นประจำทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อให้นักศึกษาในส่วนภูมิภาคได้พบและขอคำปรึกษาจากอาจารย์ได้ วันที่ 3 ตุลาคม 2539 มหาวิทยาลัยก็ได้เปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ณ สาขาวิทยบริการ 4 จังหวัด คือ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดอำนาจเจริญ
ในการเรียนการสอนปริญญาโทในส่วนภูมิภาคนั้น อาจารย์ผู้สอนจะเดินทางไปสอนที่สาขาวิทยบริการต่างๆ หมุนเวียนกันไปทั้ง 4 จังหวัด เมื่ออาจารย์ไปบรรยายที่สาขาวิทยบริการใดก็ จะทำการถ่ายทอดภาพและเสียงการบรรยายไปยังสาขาวิทยบริการอื่นๆ โดยใช้ Video Conferencing System ผ่านสัญญาณดาวเทียมไปสู่ห้องเรียน ด้วยวิธีนี้จะทำให้นักศึกษาจากทุกสาขาวิทยบริการได้รับฟังการบรรยายจากอาจารย์ผู้สอนพร้อมกันในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้อาจารย์ผู้สอนยังสามารถสื่อสารโต้ตอบกับนักศึกษาจากทุกสาขาวิทยบริการในลักษณะของการสื่อสารสองทาง (Two Way Communication) ได้อีกด้วย
หลักสูตรปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน ณ สาขาวิทยบริการส่วนภูมิภาคมีทั้งสิ้น 4 หลักสูตรคือ1. หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต2. หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการบริหารทั่วไป3. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน4. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการบริหารรัฐกิจโดยทั้ง 4 หลักสูตรนี้เปิดสอน ณ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติทั้ง 13 สาขาคือ
1. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปราจีนบุรี
2. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอุทัยธานี
3. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช
4. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอำนาจเจิรญ
5. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครพนม
6. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่
7. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย
8. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดขอนแก่น
9. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดศรีสะเกษ
10. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง
11. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดลพบุรี
12. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
13. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดหนองบัวลำภู
14. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

หลักสูตรปริญญาโทที่เปิดสอนที่สาขาวิทยบริการในปีการศึกษา 2539 มีทั้งหมด 4 หลักสูตร คือ
1. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
2. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา)
3. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรและการสอน)
4. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์)

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช


ราชวงศ์สุโขทัยมีประวัติปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ใจความว่า ผู้ตั้งราชวงศ์มี 2 คน ด้วยกัน คือ พ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาว ได้ช่วยกันตั้งราชวงศ์ขึ้นเมื่อพ.ศ. 1800 พ่อขุนผาเมืองเป็นลูกพ่อขุนศรีนาวนำถม ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยในครั้งนั้นเมืองสุโขทัยยังเป็นเมืองประเทศราชของขอมอยู่
พ่อขุนผาเมืองนั้น พระเจ้ากรุงกัมพูชาพระราชทานนามว่า กมรเตงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์ และได้พระราชทานพระราชธิดาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระนางสิงขรมหาเทวี พ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าเมืองราด ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวนั้นเป็นเจ้าเมืองบางยาง (แต่เดิมนั้น เรียกชื่อพ่อขุนบางกลางหาวว่า บางกลางทาว หรือ บางกลางท่าว ต่อมา ดร. ประเสริฐ ณ นคร ตรวจสอบอักษรที่จารึกใหม่พบว่า แท้ที่จริง จารึกเขียนว่า บางกลางหาว เพราะที่อ่านกันแต่เดิมนั้น เข้าใจผิดไปว่าเป็น "ท ทหาร" ที่แท้คือ " ห หีบ" และ"ไม้เอก" ก็ไม่มี) ครั้งนั้นเมืองสุโขทัยมีข้าหลวงเขมรชื่อ โขลญลำพง เป็นผู้รักษาเมืองหรือสำเร็จราชการอยู่ พ่อขุนบางกลางหาวเป็นมิตรสหายของพ่อขุนผาเมือง ทั้งสองได้ตั้งใจตีเมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาวได้เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองเมื่อได้เมืองบางขลังแล้วก็นำพลมาทางเมืองราด เมืองศรีสัชนาลัยถึงเมืองสุโขทัย ข้าหลวงขอมไม่อาจสู้ได้ ต้องยอมแพ้และทิ้งเมืองสุโขทัยไป
เมื่อได้เมืองสุโขทัยแล้วพ่อขุนผาเมืองได้นำพลออกและได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ถวายพระนามตามพระนามของตนที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้ากรุงกัมพูชาว่า "กมรเดงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์" (ในตอนต้นศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกโดยย่อว่า ศรีอินทราทิตย์ เป็นพระนามพระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหง) พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัยนั้น ในหนังสือชินกาลมาลินี และสิหิงคนิทาน เรียกว่า โรจนราช หรือสุรางคราช คือ พระร่วง (สำหรับพระนามพระร่วงนี้มีหลักฐานไม่แน่ชัดว่า หมายจำเพาะเจาะจงว่าเป็นองค์ใด บ้างก็ว่าหมายถึงพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ บ้างก็ว่า หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และบ้างก็ว่าหมายถึงกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์พระร่วง)
พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตามความปรากฏในจารึกหลักที่ 1มีใจความว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระโอรสด้วยพระชายาพระนามว่า นางเสือง 3 องค์ พระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังเยาว์ พระองค์กลางทรงพระนามว่า บาลเมือง (ในหนังสือชินกาลมาลินีและสิงคนิทาน เรียกว่า ปาลราช) องค์ที่สามได้เสวยราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงด้านที่ 2-3-4 และในคำนำไตรภูมิพระร่วงเรียกว่า รามราช)
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพระราชสมภพปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน ตามหลักฐานพงศาวดารเมืองเหนือ คือ พงศาวดารเมืองโยนก กล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระสหายสนิทและรุ่นราวคราวเดียวกับพญาเม็งราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ทรงศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักสุกกทันตฤาษี ณ เมือง ละโว้ (ลพบุรี) เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับพญางำเมือง ในขณะที่ทรงเล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่ร่วมกันนั้นพญางำเมืองเจริญพระชันษาได้ 16 ปี
เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระแล้ว ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกกองทัพมาตีเมืองตากอันเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันตกของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยกกองทัพออกไปสู้รบกับขุนสามชน และพระราชโอรสองค์ที่สามซึ่งเจริญพระชันษาย่างเข้า 19 ปี ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็งในการสงครามเข้าชนช้างชนะขุนสามชน พวกเมืองฉอดจึงได้แตกพ่ายไป เมื่อชนช้างชนะขุนสามชนคราวนั้นแล้ว พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชบิดาจึงพระราชทานเจ้ารามเป็น "พระรามคำแหง" ซึ่งคงจะหมายความว่าพระรามผู้เข้มแข็ง หรือ เจ้ารามผู้เข้มแข็ง
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งราชวงศ์พระร่วง ศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1) คือ มหาศักราช 1205 (พ.ศ. 1826) นั้นเป็นปีที่พระองค์ได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น มหาศักราช 1207 (พ.ศ. 1828) ทรงสร้างพระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย (เข้าใจว่า คือ พระเจดีย์ที่วัดช้างล้อม ในปัจจุบัน) มหาศักราช 1214 (พ.ศ. 1835) โปรดให้สร้างแท่นหิน ชื่อ พระแท่นมนังศิลาบาตร และสร้างศาลา 2 หลังชื่อ ศาลาพระมาสและพุทธศาลา ประดิษฐานไว้กลางดงตาล เพื่อเป็นที่ประทับว่าราชการและทรงสั่งสอนข้าราชการและประชาชนในวันธรรมดา ส่วนวันอุโบสถโปรดให้พระสงฆ์นั่งสวดพระปาติโมกข์และแสดงธรรม รัชสมัยของพระองค์รุ่งเรืองยิ่งกว่ารัชกาลใด ๆ ราชอาณาเขตแผ่ขยายไปกว้างขวาง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขอย่างที่เรียกกันว่า "ไพร่ฟ้าหน้าใส" การพาณิชย์เจริญก้าวหน้า ศิลปวิทยาเจริญรุ่งเรืองหลายประการ

วัตถุประสงค์ของชมรม

1. เพื่อความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะ ชาวลูกพ่อขุนด้วยกัน
2. เพื่อให้การบริการ ช่วยเหลือ แนะนำ และส่งเสริมในด้านการศึกษา การกีฬา และความรู้ทุก ๆ ด้านแก่สังคมเป็นส่วนรวม
3. เพื่อเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนสังคม ให้มีการอยู่ดีกินดี ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และไม่ให้มีช่องว่างระหว่างสังคม สาธารณกุศลอื่น ๆ ร่วมให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม
4. เพื่อเป็นการให้การอนุเคราะห์ช่วยเหลือสวัสดิการ แก่สมาชิกชมรมรามคำแหงจังหวัดพิษณุโลก ที่ประสบภัยพิบัติได้รับความทุกข์ยากลำบาก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในโอกาสอันควร
5. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้อง หรือฝักใฝ่เกี่ยวกับการเมืองแต่ประการ

ชมรมรามคำแหงพิษณุโลกจับมือบิ๊กซี มอบคอมพิวเตอร์ให้น้อง

นายชวลิต นักระนาด รองประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก ร่วมกับ บริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด เดินทางมอบคอมพิวเตอร์และเครื่องอุปโภคบริโภค แก่ โรงเรียนวัดโพธิญาณ ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 20 มี.ค.51 เวลา 11.30 น.นายเชาวลิตร นักระนาด รองประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก ร่วมกับ บริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด โดยคุณละไม จำรูญ เป็นตัวแทน บริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด โดยชมรมรามคำแหงพิษณุโลก มอบคอมพิวเตอร์จำนวน 1 เครื่อง พร้อมพริ้นเตอร์ 1 เครื่อง ส่วนบริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด มอบเครื่องอุปโภคบริโภค โดยมี นายนิรันดร์ มากำเนิด ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิญาณ พร้อมคณะครูนักเรียนให้การต้อนรับ ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิญาณ กล่าวว่า โรงเรียนวัดโพธิญาณ ตั้งอยู่เลขที่ 53 ม.4 ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนมีการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปกติทั่วไปในระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และยังจัดโรงเรียนให้ทางเลือกสำหรับเด็กด้อยโอกาส ที่โรงเรียนให้การสงเคราะห์ได้แก่ เด็กเร่ร่อน เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กที่ครอบครัวมีปัญหา เด็กยากจน เด็กกำพร้า ซึ่งเด็กด้อยโอกาสที่โรงเรียนให้การสงเคราะห์ จำนวน 50 คน หญิง 16 คน ชาย 34 คน ซึ่งเด็กที่ถูกทอดทิ้งจำนวน 2 คน โดยพ่อแม่ของเด็กทำงานโรงงานทอผ้าที่จังหวัดพิษณุโลก แต่เมื่อปี 2542 โรงงานปิดกิจการ พ่อแม่ไม่มีงานทำ และต่างไปมีครอบครัวใหม่ เด็กจึงต้องอาศัยอยู่กับตายาย แต่ตายายต้องไปรับจ้างเฝ้าไร่ที่ จังหวัดแพร่ เด็กจึงต้องอยู่ตามลำพัง ซึ่งชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ก็มียาเสพติด เด็กจึงมาอยู่ในการอุปการะของโรงเรียน ซึ่งที่โรงเรียนมีครู 10 คน ชาย 1 คน และหญิง 9 คน ซึ่งเมื่อปี 2545 หน่วยงานราชการช่วยเรื่องเงิน จำนวน 2,000 ต่อเดือน ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังขาดเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร เครื่องปรุงรส ยาสีฟัน สบู่ ผงซักฟอก ฯลฯ ซึ่งหากทางชมรมรามคำแหงพิษณุโลก และ บริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด จะกลับมาช่วยเหลืออีกครั้งก็ยินดีให้การต้อนรับ หรือหน่วยงาน ประชาชนจะร่วมบริจาคก็ยินดีรับน้ำใจจากทุกท่านนายเชาวลิตร นักระนาด รองประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก กล่าวว่า ทางชมรมรามคำแหงยินดีกลับมาช่วยเหลือทางโรงเรียนโพธิญาณอีกครั้ง เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปคุณละไม จำรูญ เป็นตัวแทน บริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด กล่าวว่า บิ๊กซีก็เช่นเดียวกันก็มีกิจกรรมต่อจากวันนี้ และยินดีรับเด็กของโรงเรียนโพธิญาณที่มีอายุเกิน 18 ปี เข้าทำงาน ขอให้เด็กทุกคนมีกำลังใจที่จะศึกษาเล่าเรียนเพื่อเป็นกำลังของประเทศชาติต่อไปซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้สื่อข่าวท้องถิ่นจาก บริษัท เอ็ม เอสเอส เคเบิ้ลทีวี จำกัด สาขาพิษณุโลก ห้างหุ้นส่วนจำกัดทีทีเคเบิ้ล หนังสือพิมพ์ในเครือสมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลก ร่วมทำข่าว

ชาวรามพิษณุโลก มอบอุปกรณ์การเรียนให้น้องๆ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดคูหาสวรรค์


เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 เวลา 09.30 น. ชมรมรามคำแหงพิษณุโลก โดย พันตำรวจเอก ประเสริฐ กาฬรัตน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก /ประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก พร้อมด้วยกรรมการบริหารชมรมฯ ได้นำสิ่งของ อุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า มอบให้นักเรียน ณ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายสมเกียรติ แสงสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก / ประธานกรรมการสถานศึกษา พร้อมด้วย นางเนื้อทิพย์ กาญจนากาศ ผู้อำนวยการสถานศึกษา รับมอบสิ่งของช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งมีนักเรียนที่มีปัญหาด้านครอบครัว เนื่องจากความฝืดเคืองในความเป็นอยู่และยากจน โรงเรียนเทศบาล 2 วัดคูหาสวรรค์ มีนักเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนทั้งสิ้น 744 คน เป็นนักเรียนชาย 342 และหญิง 402 คน ซึ่งชมรมรามคำแหงพิษณุโลกจะกิจกรรมอย่างนี้เพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่องต่อไป

เลือกประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก


เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2551 ชมรมรามคำแหงจังหวัดพิษณุโลก ได้มีการเลือกตั้งประธานชมรมรามคำแหง โดยมติที่ประชุมลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ให้ พ.ต.อ.ประเสริฐ กาฬรัตน์ รอง.ผบก.ภ.จว.พิษณุโลก เป็นประธานชมรมฯ งานนี้จัดที่ ร้านอาหาร ส.เลิศรส พิษณุโลก