วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช


ราชวงศ์สุโขทัยมีประวัติปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ใจความว่า ผู้ตั้งราชวงศ์มี 2 คน ด้วยกัน คือ พ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาว ได้ช่วยกันตั้งราชวงศ์ขึ้นเมื่อพ.ศ. 1800 พ่อขุนผาเมืองเป็นลูกพ่อขุนศรีนาวนำถม ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยในครั้งนั้นเมืองสุโขทัยยังเป็นเมืองประเทศราชของขอมอยู่
พ่อขุนผาเมืองนั้น พระเจ้ากรุงกัมพูชาพระราชทานนามว่า กมรเตงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์ และได้พระราชทานพระราชธิดาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระนางสิงขรมหาเทวี พ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าเมืองราด ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวนั้นเป็นเจ้าเมืองบางยาง (แต่เดิมนั้น เรียกชื่อพ่อขุนบางกลางหาวว่า บางกลางทาว หรือ บางกลางท่าว ต่อมา ดร. ประเสริฐ ณ นคร ตรวจสอบอักษรที่จารึกใหม่พบว่า แท้ที่จริง จารึกเขียนว่า บางกลางหาว เพราะที่อ่านกันแต่เดิมนั้น เข้าใจผิดไปว่าเป็น "ท ทหาร" ที่แท้คือ " ห หีบ" และ"ไม้เอก" ก็ไม่มี) ครั้งนั้นเมืองสุโขทัยมีข้าหลวงเขมรชื่อ โขลญลำพง เป็นผู้รักษาเมืองหรือสำเร็จราชการอยู่ พ่อขุนบางกลางหาวเป็นมิตรสหายของพ่อขุนผาเมือง ทั้งสองได้ตั้งใจตีเมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาวได้เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองเมื่อได้เมืองบางขลังแล้วก็นำพลมาทางเมืองราด เมืองศรีสัชนาลัยถึงเมืองสุโขทัย ข้าหลวงขอมไม่อาจสู้ได้ ต้องยอมแพ้และทิ้งเมืองสุโขทัยไป
เมื่อได้เมืองสุโขทัยแล้วพ่อขุนผาเมืองได้นำพลออกและได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ถวายพระนามตามพระนามของตนที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้ากรุงกัมพูชาว่า "กมรเดงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์" (ในตอนต้นศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกโดยย่อว่า ศรีอินทราทิตย์ เป็นพระนามพระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหง) พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัยนั้น ในหนังสือชินกาลมาลินี และสิหิงคนิทาน เรียกว่า โรจนราช หรือสุรางคราช คือ พระร่วง (สำหรับพระนามพระร่วงนี้มีหลักฐานไม่แน่ชัดว่า หมายจำเพาะเจาะจงว่าเป็นองค์ใด บ้างก็ว่าหมายถึงพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ บ้างก็ว่า หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และบ้างก็ว่าหมายถึงกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์พระร่วง)
พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตามความปรากฏในจารึกหลักที่ 1มีใจความว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระโอรสด้วยพระชายาพระนามว่า นางเสือง 3 องค์ พระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังเยาว์ พระองค์กลางทรงพระนามว่า บาลเมือง (ในหนังสือชินกาลมาลินีและสิงคนิทาน เรียกว่า ปาลราช) องค์ที่สามได้เสวยราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงด้านที่ 2-3-4 และในคำนำไตรภูมิพระร่วงเรียกว่า รามราช)
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพระราชสมภพปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน ตามหลักฐานพงศาวดารเมืองเหนือ คือ พงศาวดารเมืองโยนก กล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระสหายสนิทและรุ่นราวคราวเดียวกับพญาเม็งราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ทรงศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักสุกกทันตฤาษี ณ เมือง ละโว้ (ลพบุรี) เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับพญางำเมือง ในขณะที่ทรงเล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่ร่วมกันนั้นพญางำเมืองเจริญพระชันษาได้ 16 ปี
เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระแล้ว ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกกองทัพมาตีเมืองตากอันเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันตกของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยกกองทัพออกไปสู้รบกับขุนสามชน และพระราชโอรสองค์ที่สามซึ่งเจริญพระชันษาย่างเข้า 19 ปี ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็งในการสงครามเข้าชนช้างชนะขุนสามชน พวกเมืองฉอดจึงได้แตกพ่ายไป เมื่อชนช้างชนะขุนสามชนคราวนั้นแล้ว พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชบิดาจึงพระราชทานเจ้ารามเป็น "พระรามคำแหง" ซึ่งคงจะหมายความว่าพระรามผู้เข้มแข็ง หรือ เจ้ารามผู้เข้มแข็ง
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งราชวงศ์พระร่วง ศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1) คือ มหาศักราช 1205 (พ.ศ. 1826) นั้นเป็นปีที่พระองค์ได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น มหาศักราช 1207 (พ.ศ. 1828) ทรงสร้างพระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย (เข้าใจว่า คือ พระเจดีย์ที่วัดช้างล้อม ในปัจจุบัน) มหาศักราช 1214 (พ.ศ. 1835) โปรดให้สร้างแท่นหิน ชื่อ พระแท่นมนังศิลาบาตร และสร้างศาลา 2 หลังชื่อ ศาลาพระมาสและพุทธศาลา ประดิษฐานไว้กลางดงตาล เพื่อเป็นที่ประทับว่าราชการและทรงสั่งสอนข้าราชการและประชาชนในวันธรรมดา ส่วนวันอุโบสถโปรดให้พระสงฆ์นั่งสวดพระปาติโมกข์และแสดงธรรม รัชสมัยของพระองค์รุ่งเรืองยิ่งกว่ารัชกาลใด ๆ ราชอาณาเขตแผ่ขยายไปกว้างขวาง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขอย่างที่เรียกกันว่า "ไพร่ฟ้าหน้าใส" การพาณิชย์เจริญก้าวหน้า ศิลปวิทยาเจริญรุ่งเรืองหลายประการ

วัตถุประสงค์ของชมรม

1. เพื่อความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะ ชาวลูกพ่อขุนด้วยกัน
2. เพื่อให้การบริการ ช่วยเหลือ แนะนำ และส่งเสริมในด้านการศึกษา การกีฬา และความรู้ทุก ๆ ด้านแก่สังคมเป็นส่วนรวม
3. เพื่อเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนสังคม ให้มีการอยู่ดีกินดี ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และไม่ให้มีช่องว่างระหว่างสังคม สาธารณกุศลอื่น ๆ ร่วมให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม
4. เพื่อเป็นการให้การอนุเคราะห์ช่วยเหลือสวัสดิการ แก่สมาชิกชมรมรามคำแหงจังหวัดพิษณุโลก ที่ประสบภัยพิบัติได้รับความทุกข์ยากลำบาก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในโอกาสอันควร
5. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้อง หรือฝักใฝ่เกี่ยวกับการเมืองแต่ประการ

ชมรมรามคำแหงพิษณุโลกจับมือบิ๊กซี มอบคอมพิวเตอร์ให้น้อง

นายชวลิต นักระนาด รองประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก ร่วมกับ บริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด เดินทางมอบคอมพิวเตอร์และเครื่องอุปโภคบริโภค แก่ โรงเรียนวัดโพธิญาณ ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 20 มี.ค.51 เวลา 11.30 น.นายเชาวลิตร นักระนาด รองประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก ร่วมกับ บริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด โดยคุณละไม จำรูญ เป็นตัวแทน บริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด โดยชมรมรามคำแหงพิษณุโลก มอบคอมพิวเตอร์จำนวน 1 เครื่อง พร้อมพริ้นเตอร์ 1 เครื่อง ส่วนบริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด มอบเครื่องอุปโภคบริโภค โดยมี นายนิรันดร์ มากำเนิด ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิญาณ พร้อมคณะครูนักเรียนให้การต้อนรับ ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิญาณ กล่าวว่า โรงเรียนวัดโพธิญาณ ตั้งอยู่เลขที่ 53 ม.4 ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนมีการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปกติทั่วไปในระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และยังจัดโรงเรียนให้ทางเลือกสำหรับเด็กด้อยโอกาส ที่โรงเรียนให้การสงเคราะห์ได้แก่ เด็กเร่ร่อน เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กที่ครอบครัวมีปัญหา เด็กยากจน เด็กกำพร้า ซึ่งเด็กด้อยโอกาสที่โรงเรียนให้การสงเคราะห์ จำนวน 50 คน หญิง 16 คน ชาย 34 คน ซึ่งเด็กที่ถูกทอดทิ้งจำนวน 2 คน โดยพ่อแม่ของเด็กทำงานโรงงานทอผ้าที่จังหวัดพิษณุโลก แต่เมื่อปี 2542 โรงงานปิดกิจการ พ่อแม่ไม่มีงานทำ และต่างไปมีครอบครัวใหม่ เด็กจึงต้องอาศัยอยู่กับตายาย แต่ตายายต้องไปรับจ้างเฝ้าไร่ที่ จังหวัดแพร่ เด็กจึงต้องอยู่ตามลำพัง ซึ่งชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ก็มียาเสพติด เด็กจึงมาอยู่ในการอุปการะของโรงเรียน ซึ่งที่โรงเรียนมีครู 10 คน ชาย 1 คน และหญิง 9 คน ซึ่งเมื่อปี 2545 หน่วยงานราชการช่วยเรื่องเงิน จำนวน 2,000 ต่อเดือน ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังขาดเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร เครื่องปรุงรส ยาสีฟัน สบู่ ผงซักฟอก ฯลฯ ซึ่งหากทางชมรมรามคำแหงพิษณุโลก และ บริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด จะกลับมาช่วยเหลืออีกครั้งก็ยินดีให้การต้อนรับ หรือหน่วยงาน ประชาชนจะร่วมบริจาคก็ยินดีรับน้ำใจจากทุกท่านนายเชาวลิตร นักระนาด รองประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก กล่าวว่า ทางชมรมรามคำแหงยินดีกลับมาช่วยเหลือทางโรงเรียนโพธิญาณอีกครั้ง เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปคุณละไม จำรูญ เป็นตัวแทน บริษัท พิษณุโลกบิ๊กซี จำกัด กล่าวว่า บิ๊กซีก็เช่นเดียวกันก็มีกิจกรรมต่อจากวันนี้ และยินดีรับเด็กของโรงเรียนโพธิญาณที่มีอายุเกิน 18 ปี เข้าทำงาน ขอให้เด็กทุกคนมีกำลังใจที่จะศึกษาเล่าเรียนเพื่อเป็นกำลังของประเทศชาติต่อไปซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้สื่อข่าวท้องถิ่นจาก บริษัท เอ็ม เอสเอส เคเบิ้ลทีวี จำกัด สาขาพิษณุโลก ห้างหุ้นส่วนจำกัดทีทีเคเบิ้ล หนังสือพิมพ์ในเครือสมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลก ร่วมทำข่าว

ชาวรามพิษณุโลก มอบอุปกรณ์การเรียนให้น้องๆ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดคูหาสวรรค์


เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 เวลา 09.30 น. ชมรมรามคำแหงพิษณุโลก โดย พันตำรวจเอก ประเสริฐ กาฬรัตน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก /ประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก พร้อมด้วยกรรมการบริหารชมรมฯ ได้นำสิ่งของ อุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า มอบให้นักเรียน ณ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายสมเกียรติ แสงสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก / ประธานกรรมการสถานศึกษา พร้อมด้วย นางเนื้อทิพย์ กาญจนากาศ ผู้อำนวยการสถานศึกษา รับมอบสิ่งของช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งมีนักเรียนที่มีปัญหาด้านครอบครัว เนื่องจากความฝืดเคืองในความเป็นอยู่และยากจน โรงเรียนเทศบาล 2 วัดคูหาสวรรค์ มีนักเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนทั้งสิ้น 744 คน เป็นนักเรียนชาย 342 และหญิง 402 คน ซึ่งชมรมรามคำแหงพิษณุโลกจะกิจกรรมอย่างนี้เพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่องต่อไป

เลือกประธานชมรมรามคำแหงพิษณุโลก


เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2551 ชมรมรามคำแหงจังหวัดพิษณุโลก ได้มีการเลือกตั้งประธานชมรมรามคำแหง โดยมติที่ประชุมลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ให้ พ.ต.อ.ประเสริฐ กาฬรัตน์ รอง.ผบก.ภ.จว.พิษณุโลก เป็นประธานชมรมฯ งานนี้จัดที่ ร้านอาหาร ส.เลิศรส พิษณุโลก